วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555



             ในยุคครอบครัวเน็ตเวิร์กการพบปะพูดคุยและการสื่อสารทางกายภาพที่บ่งบอกและรับรู้ได้ถึงความรักความห่วงใยของ "พ่อ แม่ ลูก" ถูกแทนที่ด้วยความสะดวกรวดเร็ว ผ่านการใช้โทรศัพท์ อีเมล์ หรือการแช็ต ครอบครัวจึงพูดกันน้อยลง เด็กๆ เริ่มหันไปเชื่อฟังคนอื่นมากกว่าผู้ปกครอง วิถีชีวิตไปจนถึงเทรนด์แฟชั่น เกิดการเปลี่ยนถ่ายวัฒนธรรมได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส

             ดร.แคทเธอลีน เบอร์นาร์ต ประธานสถาบันวิจัยและบริการด้านครอบครัวและเด็ก (เอสอี อาร์เอฟเอซี) กล่าวในงานแถลงข่าวการประชุมเรื่อง "การปกป้องสถาบันครอบครัว โดยเฉพาะเรื่องความผูกผันในครอบครัว เด็ก และการรักษาวัฒนธรรม" ที่ประเทศไทย เมื่อไม่นานนี้ว่า ตั้งแต่ปี 2503 ครอบครัวแบบเกษตรกรรม เปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โลกไซเบอร์เข้ามามีบทบาทและเปลี่ยนครอบครัวแบบเราๆ ให้กลายเป็นครอบครัวเน็ตเวิร์ก ที่ไม่เพียงแต่เพิ่มช่องว่างระหว่างสมาชิกในครอบครัวให้ห่างจากกันมากขึ้น แต่ยังเป็นช่องทางอาชญากรรมในรูปแบบใหม่ เช่น การปลอมแปลงเอกสาร การซื้อยาเสพติดผ่านระบบออนไลน์ การค้าอาวุธสงคราม รวมทั้งการค้ามนุษย์และเด็ก

             "ในมิติของครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยเล็กที่สุดของสังคมนั้น โลกไซเบอร์ทำให้เด็กมีความต้องการ อยากได้อยากมีเหมือนคนอื่น เมื่อเขาเห็นโฆษณาทางทีวีและบนอินเตอร์เน็ต เด็กจะหาทางเพื่อให้ได้ครอบครองสิ่งต่างๆ เหล่านั้น จึงเป็นที่มาของปัญหา ทั้งโสเภณีเด็ก โรคเอดส์ การไม่เชื่อฟังพ่อแม่ผู้ปกครอง และความรุนแรงอื่นๆ ที่เป็นผลต่อเนื่องในภายหลัง"

             ดร.เบอร์นาร์ต กล่าวต่อว่าในด้านวัฒนธรรมนั้น ปัจจุบันเราเกือบจะมีวัฒนธรรมหนึ่งเดียวทั่วโลก ที่ครอบครัวแบบเน็ตเวิร์กได้ทำลายสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวเอเชีย เช่น การเคารพผู้ใหญ่ วัฒนธรรมการกินอยู่ ประเพณี และการให้คุณค่าเรื่องศาสนา ก็กำลังถูกลบเลือนหายไป แต่เรากลับไปส่งเสริมไลฟ์สไตล์อย่างชาติตะวันตก โดยไม่มีการควบคุมว่าควรจะรับมามากน้อยแค่ไหน

             บางอย่างก่อให้เกิดปัญหาที่ไม่คาดคิด ทั้งการเล่นเกมออนไลน์ หรือการแต่งกายตามแฟชั่นของฝรั่ง สิ่งเหล่านี้ได้ถอนรากถอนโคน วัฒนธรรมที่งดงามของชาวเอเชียออกไป

             หลายประเทศเรียกสิ่งนี้ว่าเสรีนิยม หรือความทันสมัย บางประเทศก็นำไปต่อยอด เกิดเป็นสิ่งใหม่ในด้านความคิด แนวทางอุดมการณ์ จนถึงขั้นทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิม โดยมองว่าเป็นสิ่งล้าสมัยหรือไม่ก็โบราณไร้คุณค่า

             "ดิฉันเป็นชาวอินเดีย เราภูมิใจในวัฒนธรรมที่มีมายาวนาน แต่ปัจจุบันประเทศของเรากำลังถูกโลกไซเบอร์โจมตีอย่างหนัก แม้โลกภายนอกจะมองว่าเรายังคงความเป็นอินเดีย เราใส่ส่าหรี เรากินอาหารแบบดั้งเดิม เรายังนับถือศาสนาที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ขณะที่ความเป็นจริงแล้ว อินเดียรับเอาวัฒนธรรมที่ไม่ใช่แค่จากชาติตะวันตก แต่เป็นจากทุกที่บนโลก

             เราพบเจอเด็กสาวแต่งกายด้วยส่าหรีประยุกต์ โชว์เนื้อหนังมังสาเดินไปมาอยู่ในชุมชนอย่างไม่รู้สึกว่านั่นคือการทำลาย ประเพณีของบรรพบุรุษ การหันไปนิยมอาหารแบบฝรั่งยิ่งเป็นที่ชื่นชอบมาก เราก็ยิ่งขาดดุลทางการค้าและประเพณี หรือการเล่นเกมออนไลน์ในกลุ่มเด็กที่อินเดียนี่คือปัญหาที่ยังไม่มีทางออก และดูเหมือนว่าจะยังระบาดต่อไปอนาคตอีกด้วย"


             ด้าน ดร.แคโรไลน์ เดอ ลีออน คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ประธานแผนกการให้คำแนะนำและปรึกษา จากมาเรียมคอลเลจ ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวเสริมขึ้นว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์ของพ่อแม่ยุคใหม่ในโลกตะวันตกที่เมื่อหนุ่มสาว อายุได้ 18 ปีแล้ว ต้องออกไปเผชิญโลกด้วยตัวเอง ส่งผลให้เกิดปัญหาการไม่เคารพผู้ใหญ่ การยึดตัวเองเป็นหลักมากกว่ารับฟังความเห็นของผู้อื่น จุดนี้กำลังคืบคลานเข้ามาในสังคมเอเชียที่เคยอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ แต่เพื่อความอยู่รอดในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันเราจึงคล้อยตามวิถีชีวิตของพวกฝรั่ง

             "เช่นเดียวกับการส่งต่อพฤติกรรมที่ขัดต่อวัฒนธรรมไป ยังลูกหลาน ปัญหาที่ดูเหมือนจะแก้ไขได้ง่ายจึงกลายเป็นปมใหญ่ทางสังคม หากสภาพบ้านเมืองบังคับให้เราต้องเดินตามอย่างคนอื่น เราก็ควรหาวิธีผสมผสานรับเอาสิ่งดีมาปรับใช้ มากกว่าจะถูกกลืนหายไปโดยไม่เหลือแม้กระทั่งจิตวิญญาณของเรา"

             ดร.แคทเธอลีน เบอร์นาร์ต กล่าวสรุปว่า "ดิฉันคิดว่า ภาครัฐของทุกประเทศในเอเชีย ยังให้ความสำคัญกับเรื่องของอำนาจ ความยิ่งใหญ่ และการเป็นหนึ่งในด้านเศรษฐกิจ มากกว่าความเป็นอยู่ของคนในสังคม พวกเขานึกถึงแต่ตัวเลขจีดีพี ผลกำไร การครอบครองตลาด ปลูกฝังและผลักให้เรายึดหลักวัตถุนิยมมากกว่าความสุขในการใช้ชีวิต เพราะผู้ที่ได้รับประโยชน์มีเพียงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ แต่ก็นำมาเป็นข้ออ้างในการดำเนินงานว่าทำเพื่อส่วนรวม"

             "เราต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วันนี้ นอกจากพ่อแม่ผู้ปกครองจะให้ความสำคัญกับครอบครัวแล้ว การสร้างบรรยากาศภายในบ้านของเราเอง ให้สัมผัสได้ถึงความรัก ความอบอุ่น ความมั่นคงปลอดภัย รวมทั้งการเลี้ยงดูด้วยหลักศีลธรรม เพื่อให้เด็กๆ มีแรงต้านต่อสิ่งที่ถาโถมเข้ามากับโลกยุคใหม่ได้

             ขณะที่ภาครัฐควรเป็นสื่อกลางช่วยชี้แจงและถ่ายทอดปัญหาให้สังคมรับรู้ไป พร้อมกับการหาหนทางเพื่อแก้ไข และควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในการดูแลขอบเขตของเทคโนโลยี และอารยธรรมตะวันตก เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประเพณี และวัฒนธรรมดั้งเดิม อะไรที่พอจะช่วยได้ เราควรร่วมมือกัน เพราะทุกวันนี้ ความทันสมัยบีบบังคับให้เราเป็นเหมือนชาวต่างด้าวในบ้านเกิดเมืองนอนของเราเองเสียแล้ว"
ดร.เบอร์นาร์ต กล่าวทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น